ภาวะการครองชีพครัวเรือนไทยเดือน ก.พ.ปรับดีขึ้นแต่คาดว่าชั่วคราว เนื่องจากการยกระดับความตึงเครียดของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน น่าจะส่งผลต่อภาวะการครองชีพครัวเรือนไทยในเดือนต่อไป
– ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นอยู่ที่ 33.9 และ 36.0 จากมาตรการภาครัฐที่ทยอยออกเพื่อมาบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทั้งโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 ที่เลื่อนขึ้นมาเร็วกว่ากำหนดเดิม และการปรับลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาระบบ Test&Go ได้เปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้ง และเป็นช่วงเริ่มโครงการเราเที่ยวกันระยะที่ 4 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในส่วนของค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พบว่า ครัวเรือนบางส่วนเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยมีการซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง ปัจจัยดังกล่าวบ่งชี้ระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนที่ยังมีภาวะเปราะบางและอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีในรอบเดือน ก.พ. จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 ก.พ.65 ซึ่งยังไม่ได้เกิดผลกระทบจากการยกระดับของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์แตะระดับ130 $/barrel ในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า ครัวเรือน 33.8% ของครัวเรือนที่สำรวจมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งครัวเรือนส่วนมากต้องการรายได้เพิ่มเฉลี่ย 10-20% เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ขณะที่ครัวเรือน 67.5% ไม่มีเงินออม (ครัวเรือนที่รายได้พอดีกับค่าใช้จ่าย และครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย) ทั้งนี้ ความไม่สอดคล้องของรายได้และค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน
– ในระยะข้างหน้าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่อาจอยู่ในระดับสูงเป็นเวลายาว ซึ่งจะมีผลต่อระดับเงินเฟ้ อและภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะถัดไป
KR-ECI ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในเดือน ก.พ.65 ภาครัฐมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของครัวเรือนออกมาต่อเนื่อง ประกอบกับการเปิดให้ลงทะเบียน Test&Go อีกครั้ง ทำให้เกิดความหวังเกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนให้ปรับดีขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก่อน โดยดัชนี KR-ECI ปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33.9 และ 36.0 จาก 30.9 และ 33.2 ในเดือน ม.ค.65 ดัชนีปรับดีขึ้นในทุกองค์ประกอบ แม้ว่ารายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ก.พ.จะระบุว่าระดับดัชนีราคาในหมวดอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านปรับเพิ่มขึ้นที่ 5.75% และ 5.29% YoY แต่ผลสำรวจ KR-ECI บ่งชี้ว่าความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาอาหารและเครื่องดื่ม (ของรับประทาน) ลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งคาดว่ามาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 ของภาครัฐช่วยบรรเทาผลกระทบหรือความกังวลจากราคาอาหารที่ปรับขึ้นได้ เนื่องจากพิจารณายอดสะสมแบ่งตามประเภทร้านค้าของมาตรการคนละครึ่งพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้ใช้จ่ายไปกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 8 มี.ค.65 อยู่ที่ 21,774.6 ล้านบาท จากยอดการใช้จ่ายรวม 51,153.1 ล้านบาท บ่งชี้ว่ามาตรการดังกล่าวเข้ามาช่วยแบ่งเบาและบรรเทาราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในส่วนของพฤติกรรมการใช้จ่ายเทียบกับเดือนก่อนพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายลดลงกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไปใช้สินค้าที่มีราคาถูกลง หรือลดค่าใช้จ่ายลงเพราะกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงินทองในอนาคตจึงได้เริ่มลดค่าใช้จ่ายในปัจจุบันลง ดังนั้น แม้ดัชนีปรับดีขึ้นจากมาตรการของภาครัฐ แต่ภาพรวมครัวเรือนยังคงมีความกังวลจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นความสอดคล้องกันระหว่างรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน พบว่า มีครัวเรือนจำนวน 33.8% ที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายรายเดือน และในสัดส่วนนี้ครัวเรือนส่วนมาก (35.2%) ต้องการรายได้เพิ่มอีกประมาณ 10-20% เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย (ยังไม่เหลือเก็บออม) ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนความเปราะบางของครัวเรือนกว่า 70% ของการสำรวจว่าไม่มีเงินเก็บออม (ครัวเรือนที่สำรวจมีรายได้ต่อเดือนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ไม่เกิน 30,000 บาท)
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าครัวเรือนมีแนวโน้มเผชิญกับภาวะราคาสินค้าที่สูงลากยาวจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงไปจนถึงครึ่งปีหลังนี้ ขณะที่ภาครัฐยังทยอยออกมาตรการมาแบ่งเบาภาระต่างๆ ต่อเนื่อง ล่าสุด มีการกล่าวถึงโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 ซึ่งจะมีการประเมินหลังสิ้นสุดระยะที่ 4 (เม.ย.65) นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง แม้จะไม่ได้กระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่อาจเป็นตัวซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้มีความเปราะบางมากขึ้น
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.พ.65) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจในเดือน ก.พ.ดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ยกระดับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ระดับราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีในเดือน ก.พ.นี้เป็นปัจจัยชั่วคราว
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket