ธปท. จ่อทบทวนจีดีพีปี’65 ในการประชุม กนง. รอบวันที่ 30 มี.ค.นี้ รับปัจจัยลบรุมเร้า สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” สร้างแรงกระแทกเร็วและแรง ฉุดเศรษฐกิจโลก-ราคาน้ำมันพุ่ง ฟาดชิ่งเศรษฐกิจไทย ดันเงินเฟ้อทะลุกรอบ 3%
วันที่ 16 มีนาคม 2565 ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะทบทวนประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2565 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวลดลงเล็กน้อย จากเดิมประมาณการว่าปีนี้จีดีพีจะโต 3.4%
ทั้งนี้ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น โดยปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดภาวะช็อกทั่วโลก ขณะที่ปัจจัยเรื่องการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังคงยืดเยื้อ จากเดิมคาดว่าจะจบเร็ว
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะต่ำกว่าประมาณการในเดือน ธ.ค. 2564 ที่เคยคาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 5.6 ล้านคน และระหว่างทางมีการปรับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ตามสัญญาณการฟื้นตัวและข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด แต่ภายหลังจากเกิดกรณีรัสเซียคาดว่าตัวเลขน่าจะปรับลดลง แต่เป็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือน ธ.ค.ไม่มากนัก
นายปิติกล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลล่าสุดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นและมีโอกาสเกินกรอบเป้าหมายทั้งปีที่ 3% จากกรอบเป้าหมาย 1-3% แต่อัตราเงินเฟ้อของไทยเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นชั่วคราวตามปัจจัยพื้นฐาน เกิดจากซัพพลายช็อก เช่น ราคาหมู และราคาน้ำมัน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งเดียว ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินสามารถมองทะลุไปในระยะกลางได้
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินยังคงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก
นายปิติกล่าวด้วยว่า สำหรับสมมุติฐานด้านราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ธปท.ประเมินว่า ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะลดทอนจีดีพีราว 0.1% ซึ่งจากราคาน้ำมันในเดือน ธ.ค. 2564 ถึงปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อจีดีพีลดลง
อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจก็มีปัจจัยบวกที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 4/2564 ออกมาขยายตัวค่อนข้างสูง ดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้การถูกลดทอนของจีดีพีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี จากปัจจัยและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อย 1 ไตรมาส จากเดิมคาดว่าไตรมาสแรกปี 2566 จะกลับมาขยายตัวได้ในระดับก่อนเกิดโควิด
“ตอนนี้สตอรี่เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวต่อไปได้ แต่ยอมรับว่าแรงกระแทกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมาก เป็นแรงกระแทกที่แรงและเร็ว แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่หากไม่มีกรณีรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้น ตัวเลขการฟื้นตัวน่าจะดีขึ้น เพราะข่าวดีก่อนหน้า ทั้งจีดีพีไตรมาสที่ 4/64 ออกมาดีเกินคาด จะต้องถูกลดทอนไป แต่การฟื้นตัวไม่ได้สะดุด แต่มันไม่ได้ฟื้นตัวดีเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าปี 2566 น่าจะลดลงจากปีนี้ฐานที่สูง เว้นแต่จะมีช็อกใหม่” นายปิติกล่าว
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance